วิธีการโอเวอร์คล็อกแรม

จุดเด่น:

  • RAM พื้นฐาน

  • ฮาร์ดแวร์อื่นๆ

  • ผู้ใช้ระดับเริ่มต้น: Intel® Extreme Memory Profile (Intel® XMP)

  • ผู้ใช้ระดับกลาง: Advanced Memory Profiles

  • ผู้ใช้ขั้นสูง: การโอเวอร์คล็อกด้วยตัวเอง

author-image

โดย

ส่วนใหญ่แล้ว การโอเวอร์คล็อกมักจะถูกคิดว่าเป็นเรื่องของ CPU หรือ GPU เท่านั้น แต่คุณยังสามารถโอเวอร์คล็อกแรม (หน่วยความจำเข้าถึงโดยสุ่ม) เพื่อยกระดับความเร็วได้อีกด้วย

ความเร็วของแรมในหน่วย MHz โดยอ้างอิงจากความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลของแรม ยิ่งแรมมีอัตราถ่ายโอนข้อมูลที่เร็วขึ้นมากเท่าใด แรมก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น การโอเวอร์คล็อกแรมเป็นการแก้ไขพารามิเตอร์ที่เฉพาะเจาะจง เช่น เวลาในการตอบสนองและแรงดันไฟฟ้าเพื่อช่วยให้โมดูลสามารถทำงานด้วยความเร็วที่มากยิ่งกว่าเดิมเทียบกับขณะเพิ่งที่แกะกล่องใหม่ ๆ

การเปลี่ยนแปลงความถี่สัญญาณนาฬิกาหรือแรงดันไฟฟ้าอาจทำให้การรับประกันผลิตภัณฑ์ใดๆ เป็นโมฆะ และลดความมั่นคง ความปลอดภัย ประสิทธิภาพและอายุการใช้งานของโปรเซสเซอร์และส่วนประกอบอื่นๆ

การโอเวอร์คล็อกแรมทำงานอย่างไร?

แรมของพีซีมีหน้าที่ในการจัดเก็บข้อมูลที่โปรเซสเซอร์ใช้งาน เฉกเช่นเดียวกับปัญหาคอขวดใด ๆ ยิ่ง CPU ต้องรอข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้จากแรมนานมากขึ้นเท่าใด ประสิทธิภาพการทำงานก็จะลดลงมากขึ้นเท่านั้น แรมที่มีความเร็วสูงกว่าจะส่งข้อมูลกับโปรเซสเซอร์ได้เร็วกว่า อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพีซีของคุณได้อีกด้วย

ประสิทธิภาพของแรมจะขึ้นอยู่กับความถี่ในการปฏิบัติงานเป็นหลัก รวมไปถึงคุณลักษณะด้านความหน่วงแฝง ซึ่งมักจะเรียกกันว่า "เวลาในการตอบสนอง"

แรมที่มีความถี่สูงกว่าจะดำเนินการถ่ายโอนข้อมูลได้เร็วกว่า ในทางกลับกัน ยิ่งมีเวลาในการตอบสนองน้อยลงเท่าไร ก็จะยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น นี่เป็นเพราะเวลาในการตอบสนองแต่ละค่าจะมีความสอดคล้องกับความหน่วงแฝงบางค่า หรือเวลาในระหว่างการดำเนินงาน และยิ่งมีเวลาระหว่างการดำเนินงานน้อยลงเท่าไร ก็จะยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น

ความถี่และเวลาในการตอบสนอง

แรมในอุดมคติจะต้องมีความถี่สูงและเวลาในการตอบสนองต่ำ ปัจจัยทั้งสองอย่างนี้เป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพโดยรวมของแรม

ซึ่งมักจะจำเป็นต้องมีการประนีประนอมเพื่อเพิ่มค่าใดค่าหนึ่ง หรือลดอีกค่าหนึ่งลง พูดง่าย ๆ ก็คือ แรมจะรักษาความเสถียรได้ยากขึ้น ในขณะที่โมดูลหน่วยความจำทำงานอยู่ที่ความถี่สูง เวลาในการตอบสนองของหน่วยความจำมักจะมีค่าเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ปัญหาความท้าทายด้านเสถียรภาพในขณะทำงานที่ความเร็วสูง ซึ่งจะช่วยเพิ่มเวลา (ความหน่วงแฝง) ในระหว่างการดำเนินงาน และช่วยให้ถ่ายโอนข้อมูลได้อย่างมีเสถียรภาพ ความหน่วงแฝงที่เพิ่มขึ้นจะลดประสิทธิภาพในการทำงานลง และอาจทำลายผลประโยชน์ที่ได้รับจากความถี่ที่สูงขึ้น โดยขึ้นอยู่กับขนาดของความถี่ที่เพิ่มขึ้น

ผู้ผลิตโมดูลหน่วยความจำทราบถึงสิ่งนี้ และเลือกชิปสำหรับการ์ดหน่วยความจำแต่ละการ์ด ทำการทดสอบ และจับคู่โมดูลหน่วยจำอย่างระมัดระวังเพื่อเข้าถึงประสิทธิภาพสูงสุด คุณสมบัติและความพยายามเพิ่มเติมมักส่งผลให้หน่วยความจำมีราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมแรมที่มีความหน่วงแฝงต่ำ และมีความเร็วสูงมักจะมีราคาแพงกว่า

ปัจจัยทั้งสองอย่างล้วนมีความสำคัญ แต่โดยทั่วไปแล้ว ความถี่ที่สูงกว่ามักจะมีผลกระทบกับประสิทธิภาพสำหรับผู้ใช้ทั่วไปมากกว่าเวลาในการตอบสนอง

นี่คือตัวอย่างฉลากแรมที่แสดงข้อกำหนดจำเพาะเกี่ยวกับความถี่ และความเร็วในการตอบสนอง นี่คือโมดูล DDR4 ที่ทำงานที่ความถี่ 3200 MHz สตริงของตัวเลข ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ 14-14-14-34 หมายถึงสต็อกเวลาการตอบสนองของแรม

การสร้างเบสไลน์

ในขณะที่คุณโอเวอร์คล็อกฮาร์ดแวร์ใด ๆ รวมถึงแรม นี่เป็นสิ่งสำคัญที่คุณจะต้องสร้างระดับเบสไลน์ของประสิทธิภาพก่อนที่ดำเนินการแก้ไขใด ๆ นี่จะช่วยให้คุณเห็นผลลัพธ์ของความพยายามของคุณได้อย่างชัดเจน และเปรียบเทียบความแตกต่างกับประสิทธิภาพของสต็อก

และให้เรียกใช้งานยูทิลิตี้การเปรียบเทียบเพื่อสร้างเบสไลน์นี้ ก่อนทำการโอเวอร์คล็อกใด ๆ มีโปรแกรมหลายโปรแกรมที่จะช่วยคุณในการสร้างเบสไลน์ได้ เช่น memtest86+ (ซึ่งจำเป็นต้องใช้ดิสก์สำหรับเริ่มต้นระบบ) Aida64, MaxxMEM2 หรือโปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพ หลังจากที่ได้ดำเนินการเปรียบเทียบตามที่คุณต้องการแล้ว ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณได้ติดตามผลลัพธ์ของคุณอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้เปรียบเทียบในภายหลัง

ได้เวลาเริ่มโอเวอร์คล็อกกันแล้ว เราจะมาเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคการโอเวอร์คล็อกแรม 3 เทคนิค โดยขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นนักโอเวอร์คล็อกระดับเริ่มต้น ระดับกลาง หรือระดับขั้นสูง

ผู้ใช้ระดับเริ่มต้น: Intel® XMP

หากคุณยังใหม่กับการโอเวอร์คล็อกแรม คุณอาจพบว่าเทคโนโลยี Intel® Extreme Memory Profile (Intel® XMP) เป็นวิธีการที่ยอดเยี่ยมที่จะช่วยให้คุณมีความเร็วเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยไม่จำเป็นต้องทราบรายละเอียดมากมาย โมดูลหน่วยความจำที่รองรับการทำงานร่วมกับ Intel® XMP จะได้รับการกำหนดค่าที่ดีที่สุดไว้อยู่แล้ว และเมนบอร์ดหลายรุ่นยังสามารถตรวจพบการตั้งค่า และดำเนินการปรับใช้แบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องแก้ไขความถี่ เวลาในการตอบสนอง และแรงดันไฟฟ้าด้วยตนเอง

คุณจำเป็นต้องเข้าไปใน BIOS ของพีซีของคุณ เพื่อค้นหาการตั้งค่าของ Intel® XMP

การตั้งค่า Intel® XMP มักจะส่งมอบความสามารถในการสลับใช้งานโปรไฟล์หลายโปรไฟล์ให้กับคุณ ซึ่งจะให้ประสิทธิภาพโอเวอร์คล็อกในระดับที่แตกต่างกัน สิ่งนี้อาจแตกต่างกันไปตามผู้ผลิตเมนบอร์ดและหน่วยความจำ แต่โดยทั่วไปแล้ว อุปกรณ์หนึ่ง ๆ มักจะให้การโอเวอร์คล็อกที่มีเสถียรภาพมากกว่า ในขณะที่อีกอุปกรณ์หนึ่งอาจมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายด้านประสิทธิภาพมากกว่า เลือกสิ่งที่เหมาะสมกับคุณ และจำไว้ว่าคุณสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ในภายหลังได้

เลือกโปรไฟล์ที่คุณต้องการใช้งาน บันทึก และปรับใช้การตั้งค่าของคุณ แล้วจึงรีบูตพีซีของคุณ

Intel® XMP ทำให้การโอเวอร์คล็อกแรมกลางเป็นเรื่องที่เรียบง่ายผ่านการปรับใช้งานการตั้งค่าที่ถูกต้องสำหรับโมดูลของคุณตามคำแนะนำของผู้ผลิตโมดูลหน่วยความจำ

คุณจะได้เห็นการตั้งค่าสำหรับโมดูลแรมของเราในภาพสกรีนช็อกด้านบน:

  • ตั้งค่าความถี่หน่วยความจำไว้ที่ 3200 MHz
  • ตั้งเวลาตอบสนองไว้ที่ 14-(14)-14-34
  • ตั้งค่าแรงดันไฟฟ้าของหน่วยความดันไว้ที่ 1.35 V.

หลังจากที่ปรับใช้งานการเปลี่ยนแปลงของคุณและรีบูตแล้ว ให้เข้าไปที่ซอฟต์แวร์ที่คุณใช้งานอีกครั้งเพื่อรับคะแนนการเปรียบเทียบเบื้องต้นของคุณ และเรียกใช้ซอฟต์แวร์อีกครั้ง ในตัวอย่างด้านล่าง เราใช้งาน Aida64 ซึ่งให้ทดลองใช้ฟรี

สต็อก: เราทำคะแนนได้ระหว่าง 32 และ 33 กิกะไบต์/วินาที ด้วยความหน่วงแฝง 60 ns (นาโนวินาที)

เราได้คะแนน 46 และ 48 กิกะไบต์/วินาที หลังจากที่เปิดใช้งาน Intel® XMP ความหน่วงแฝงลดลงไปเหลือเพียง 47 ns

ผู้ใช้ระดับกลาง: Advanced Memory Profile

ในขณะที่ Intel® XMP เป็นสิ่งที่ใช้งานง่ายและสามารถยกระดับประสิทธิภาพได้ตามข้อกำหนดจำเพาะของผู้ผลิต เทคโนโลยีนี้อาจไม่ให้ความยืดหยุ่น และระดับความสามารถในการปรับแต่งที่ผู้ใช้บางคนอาจต้องการได้

หากคุณสนใจที่จะทำการเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวคุณเอง เมนบอร์ดบางรุ่นให้การเข้าถึงเครื่องมือเพื่อแก้ไขการตั้งค่าหน่วยความจำของคุณ (ไม่ใช่เมนบอร์ดทุกรุ่นที่มี Advanced Memory Profile เหล่านี้ให้ และมักจะพบในเมนบอร์ดระดับไฮเอนท์ที่ได้รับการออกแบบมาสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการโอเวอร์คล็อก) ซึ่งเป็นเครื่องมือในอุดมคติสำหรับผู้ใช้ที่การการควบคุมในระดับแยกย่อยมากกว่าที่ Intel® XMP นำเสนอ แต่ไม่สนใจในรายละเอียดปลีกย่อยของการปรับแต่งค่าแต่ละค่าด้วยตนเอง

เข้าไปยัง BIOS ของคุณเพื่อเริ่มกระบวนการนี้

หลังจากที่เข้าไปใน BIOS ให้สำรวจในเมนูจนกว่าคุณจะพบส่วนที่ให้คุณแก้ไขโปรไฟล์หน่วยความจำของคุณ หากคุณประสบกับปัญหาในการหาตัวเลือกเหล่านี้ โปรดอ่านเอกสารสำหรับเมนบอร์ดของคุณเพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติม

หลังจากที่คุณพบส่วนดังกล่าวแล้ว คุณจะสามารถเข้าถึงเมนูที่คุณสามารถเลือกชุดความถี่ เวลาในการตอบสนอง และแรงดันไฟฟ้าของหน่วยความจำได้ วิธีการลองผิดลองถูกมักจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในส่วนนี้: ทดสอบตัวเลือกต่าง ๆ จนกว่าคุณจะพบตัวเลือกที่ทำงานได้ดีที่สุดกับการกำหนดค่าฮาร์ดแวร์ของคุณ

ในกรณีของเรา เราได้ลองใช้หลายตัวเลือก และในที่สุดก็ได้ตัดสินใจใช้โปรไฟล์ 3400 MHz ซึ่งมีความถี่สูงกว่าโปรไฟล์ Intel® XMP 3200 MHz ถึง 200 MHz และสูงกว่าความถี่สต็อกที่ 2666 MHz ถึง 734 MHz โปรไฟล์นี้มาพร้อมกับช่วงเวลาตอบสนองที่แคบขึ้นด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมให้กับแรมของเรา

ตอนนี้ เราวัดคะแนนออกมาได้ระหว่าง 50 และ 53 กิกะไบต์/วินาที โดยทีความหน่วงแฝงอยู่ที่ 45 ns.

ตัวอย่างของเรามีขีดจำกัดเห็นได้ชัดก็คือ การที่เราใช้งานโมดูล 8 กิกะไบต์ 4 โมดูล วิธีการหนึ่งที่จะยกระดับประสิทธิภาพของเราได้ก็คือการลดโมดูลที่เราติดตั้งไว้ให้เหลือเพียงแค่ 2 โมดูล เนื่องจากการมีเมนบอร์ดจำนวนมากจะทำให้รักษาระดับความเร็วที่สูงขึ้นได้ยากขึ้นด้วย เนื่องจากมีโหลดเพิ่มขึ้นที่ช่องใส่หน่วยความจำ

และเฉกเช่นเดียวกับวิธีอื่น ๆ ในการโอเวอร์คล็อกแรม คุณจะต้องรีสตาร์ทระบบของคุณใหม่ และทำการเปรียบเทียบทุกครั้งหลังจากที่คุณทำการเปลี่ยนแปลงเพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ และตรวจสอบให้มั่นใจว่าระบบมีความเสถียรภาพ

ผู้ใช้ขั้นสูง: การโอเวอร์คล็อกหน่วยความจำด้วยตนเอง

นักโอเวอร์คล็อกขั้นสูงอาจจะมองหาการควบคุมที่มีความละเอียดมากขึ้นกว่า Intel® XMP และ Advanced Memory Profile ด้วยเหตุนี้เอง การดำเนินการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเองจึงนับว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด โปรดทราบว่าการทำสิ่งนี้อาจจะต้องใช้เวลานานมาก นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกที่แม้แต่นักโอเวอร์คล็อกหน่วยความจำที่มีประสบการณ์จะต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังที่กล่าวมาข้างต้น วิธีการนี้ช่วยให้คุณสามารถควบคุมการโอเวอร์คล็อกของคุณได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ใช้เพียงบางคน

หลักฐานพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังการโอเวอร์คล็อกแรมเป็นหลักการที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา และคล้ายกับกระบวนการที่ใช้ในการโอเวอร์คล็อก CPU ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปรับแต่งการตั้งค่าสิ่งต่าง ๆ อย่างระมัดระวัง เช่น เวลาตอบสนองของหน่วยความจำจาก BIOS เพื่อหาชุดค่าที่ให้ความเร็วที่มากขึ้น ทดสอบดูว่ากระบวนการดังกล่าวประสบความสำเร็จหรือไม่ และลองอีกครั้งจนกว่าคุณจะได้รับความสมดุลในอุดมคติระหว่างความถี่สูงสุดที่มีเสถียรภาพกับช่วงเวลาการตอบสนองที่แคบที่สุด

คุณอาจจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้ ในขณะที่คุณปรับค่าความถี่ แรงดันไฟฟ้า และเวลาการตอบสนองของแรมเพื่อหาสมดุลที่ดีที่สุดสำหรับฮาร์ดแวร์ของคุณ:

  • คุณอาจจะต้องเพิ่ม (คลาย) ช่วงเวลาการตอบสนองเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับความถี่ที่สูงขึ้น ซึ่งอาจจะต้องเพิ่มแรงดันไฟฟ้าด้วยเช่นกัน
  • คุณจะต้องลด (บีบ) ช่วงเวลาการตอบสนองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในขณะที่ความถี่ปัจจุบันมีเสถียรภาพแล้ว
  • หากคุณต้องการที่จะลดช่วงเวลาการตอบสนอง โปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณได้ดำเนินการสิ่งนี้อย่างมีระบบ เมนบอร์ดส่วนใหญ่มีอาร์เรย์ช่วงเวลาการตอบสนองที่กว้าง ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนค่าได้ผ่านทาง BIOS
  • ยูทิลิตี้ BIOS หลายตัวจะแสดงค่าเวลาตอบสนองเริ่มต้น ตัวอย่างเช่น หากหน่วยความจำของคุณใช้ 15-15-36 คุณอาจจะต้องลองเปลี่ยนค่านี้เป็น 14-14-34 เป็นอันดับแรก
  • หลังจากที่ทำการทดลองกับเวลาการตอบสนองของหน่วยความจำแล้ว คุณอาจจะต้องแก้ไขแรงดันไฟฟ้าอินพุตของหน่วยความจำด้วย การเพิ่มแรงดันไฟฟ้าอินพุตของคอมโพเนนต์จะทำให้มีการใช้พลังงานที่มากขึ้น และสร้างความร้อนออกมามากขึ้นตามไปด้วย เฉกเช่นเดียวกับการโอเวอร์คล็อก CPU
  • แรงดันไฟฟ้าของหน่วยความจำเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยในการโอเวอร์คล็อกได้อย่างมีเสถียรภาพ ในกรณีการโอเวอร์คล็อกหน่วยจำมาตรฐาน ให้ใช้แรงดันไฟฟ้า 1.5 V เป็นแรงดันไฟฟ้าสูงสุด แต่ให้พยายามปรับค่าลงมาทุกเมื่อที่ทำได้ ให้ระมัดระวังในการเปลี่ยนแปลงแรงดันไฟฟ้า และพยายามปรับค่าแรงดันไฟฟ้าให้ต่ำที่สุดขณะทำการทดสอบ
  • เมนบอร์ดบางรุ่นไม่รองรับค่าแรงดันไฟฟ้าหน่วยความจำสูง และระบบมักจะไม่ถูกบูตขึ้นมา เมื่อคุณปรับค่าแรงดันไฟฟ้าสูงเกินไป ลองใช้แรงดันไฟฟ้าที่ต่ำกว่า
  • ในขณะที่คุณโอเวอร์คล็อก คุณมักจะพบกับเพดาน ซึ่งเป็นจุดที่การปรับค่าใด ๆ เพิ่มขึ้นจะไม่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเพิ่มเติมอีกต่อไป หลังจากที่เพิ่มความถี่ไปถึงระดับหนึ่งแล้ว การเพิ่มความถี่เพิ่มเติมจะไม่ให้ประสิทธิภาพที่ดีขึ้นอีกต่อไป เนื่องจากเมนบอร์ดจะทำการปรับค่าเวลาการตอบสนองแบบอัตโนมัติเพื่อคงความเสถียรของระบบไว้ หากคุณพบว่าคุณไม่ได้รับประสิทธิภาพเพิ่มเติมหลังจากทำการปรับค่า นั่นหมายความว่าคุณอาจถึงขีดจำกัดศักยภาพของฮาร์ดแวร์ของคุณแล้ว
  • คุณอาจจะต้องทำการทดลองสักพักจนกว่าคุณจะพบชุดความถี่ แรงดันไฟฟ้า และเวลาการตอบสนองที่เหมาะสมสำหรับฮาร์ดแวร์ของคุณ
  • ดำเนินการเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าขึ้นเล็กน้อย และทดสอบความเสถียรระหว่างการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้ง

ในขณะที่คุณได้แก้ไขการตั้งค่าให้เป็นชุดค่าที่คุณเชื่อว่าประสบความสำเร็จ ให้รีบูตกลับไปเป็น Windows และทดสอบโดยใช้ยูทิลิตี้การเปรียบเทียบเพื่อยืนยันความเสถียร และประสิทธิภาพที่ได้รับ ในกรณีที่คุณอยากจะลองเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น ให้กลับไปยัง BIOS และดำเนินการทดสอบต่อ

บันทึกการตั้งค่าของคุณในแต่ละครั้งที่คุณพบชุดค่าที่สามารถบูตขึ้นมาได้ และโอเวอร์คล็อกสำเร็จ แม้ว่าคุณอยากจะลองเพิ่มประสิทธิภาพให้มากกว่านี้ก็ตาม เนื่องจากมีโอกาสที่ความพยายามหลายครั้งของคุณจะไม่ประสบความสำเร็จ และการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่คุณทำไว้จะสูญหายไปหลังจากรอบการทดลองที่ล้มเหลว ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณได้ทำการบันทึกค่าบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อประหยัดเวลาของคุณ และช่วยให้คุณไม่ต้องเริ่มทดลองใหม่ทั้งหมดในทุกครั้ง

ความเสถียรของระบบ

ในกรณีที่ระบบไม่บูตขึ้นมาหลังจากปรับใช้การตั้งค่าใหม่:

  1. ลองเพิ่มแรงดันไฟฟ้าของหน่วยความจำ และแรงดันไฟฟ้า IMC ขึ้นเล็กน้อย เพื่อเพิ่มความถี่ให้สูงขึ้น ขอให้โปรดระวังในขณะที่เพิ่มค่าแรงดันไฟฟ้า ให้เพิ่มค่าดังกล่าวขึ้นเล็กน้อย และเอาใจใส่กับคำเตือนใด ๆ ที่มาพร้อมกับเมนบอร์ดของคุณ
  2. ลดความถี่ลงสู่ระดับที่ต่ำลง แล้วลองใหม่อีกครั้ง
  3. เปลี่ยนเวลาการตอบสนองของคุณ ชุดความถี่และเวลาการตอบสนองบางชุดจะชุดที่ใช้งานไม่ได้ วิธีการเดียวที่จะทราบสิ่งนี้ได้ก็คือ การทดลองต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าคุณจะประสบความสำเร็จ

ใช้ประโยชน์จากแรมของคุณอย่างเต็มประสิทธิภาพ

การโอเวอร์คล็อกแรมเป็นวิธีการที่เรียบง่ายในการใช้ประโยชน์จากฮาร์ดแวร์ของคุณมากขึ้นเล็กน้อย และยังสามารถส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของระบบอย่างมากได้อีกด้วย การทำตามขั้นตอนด้านบนจะช่วยให้คุณได้รับความเร็วสูงสุดเท่าที่เป็นไปได้จากแรมของคุณ และได้รับประโยชน์สูงสุดจากอุปกรณ์ของคุณ

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับแรมที่นี่ หรือดูคำแนะนำของเราในการโอเวอร์คล็อก CPU เพื่อเรียนรู้วิธีการใช้ประโยชน์สูงสุดจาก CPU ของคุณ