วิธีการทำโอเวอร์คล็อก CPU ของคุณจาก BIOS

จุดเด่น:

  • การเปรียบเทียบประสิทธิภาพ

  • การปรับการตั้งค่า

  • การป้องกัน

  • การรักษาความเสถียร

  • การตรวจตราระบบ

author-image

โดย

BIOS (Basic Input Output System) คือ ซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งบนเมนบอร์ดของคุณ ซึ่งจะได้รับการโหลดขึ้นมาก่อนระบบปฏิบัติการของคุณ และมาพร้อมกับอินเทอร์เฟซที่อนุญาตให้คุณกำหนดค่าฮาร์ดแวร์ที่ติดตั้งในเมนบอร์ดของคุณ เนื่องจากคุณสามารถเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าต่าง ๆ เช่น แรงดันไฟฟ้าและความถี่จาก BIOS ได้ คุณจึงใช้ BIOS ในการทำโอเวอร์คล็อก CPU ของคุณด้วยตนเอง เพื่อเพิ่มความเร็วสัญญาณนาฬิกา และยกระดับประสิทธิภาพได้

บทความนี้จัดทำขึ้นบนพื้นฐานที่ว่าคุณมีความเข้าใจพื้นฐานว่าการทำโอเวอร์คล็อกคืออะไร และมีวิธีการทำงานอย่างไร หากคุณเพิ่งเริ่มต้นทำโอเวอร์คล็อก และต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการพื้นฐาน โปรดเข้าไปที่ภาพรวมการทำโอเวอร์คล็อกนี้เพื่อช่วยให้คุณสามารถเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้รวดเร็วขึ้น

คุณจะต้องมั่นใจว่าคุณมีฮาร์ดแวร์ที่เหมาะสม

เราขอแนะนำให้พิจารณาตัวเลือกซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้กระบวนการง่ายยิ่งขึ้น ก่อนทำการโอเวอร์คล็อก เช่น Intel® Extreme Tuning Utility (Intel® XTU) เป็นตัวเลือกที่ใช้งานง่ายเหมาะสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นกับการทำโอเวอร์คล็อก

ในทางตรงกันข้าม การทำโอเวอร์คล็อกจาก BIOS จะทำให้คุณเข้าถึงการตั้งค่าประสิทธิภาพของระบบที่มีอยู่ได้ทั้งหมดอย่างคบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด หากคุณต้องการปรับการตั้งค่าระบบของคุณให้ดีขึ้นด้วยตนเอง และจัดการการทำโอเวอร์คล็อกของคุณเองทั้งหมด เราขอแนะนำให้คุณทำสิ่งเหล่านี้ผ่าน BIOS

โปรดตรวจสอบว่าคุณได้อัปเดต BIOS ของคุณเป็นเวอร์ชันล่าสุด ก่อนเริ่มกระบวนการ นี่จะช่วยให้คุณสามารถใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติใหม่ๆ หรือใช้งานการแก้ไขที่ผู้ผลิตเมนบอร์ดเผยแพร่ได้ ค้นหาเมนบอร์ดของคุณทางออนไลน์ หรือศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อหาวิธีอัปเดต BIOS ของคุณอย่างถูกต้อง

รูปแบบและเค้าโครงของ BIOS แต่ละรุ่นมีความแตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับผู้ผลิตเมนบอร์ด คุณต้องกดคีย์ที่เฉพาะเจาะจงเพื่อเข้าถึง BIOS เช่น F2 หรือ Delete ค้างไว้หลังจากเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณ และก่อนที่หน้าจอโหลด Windows จะปรากฎขึ้น ดูคำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงในเอกสารเกี่ยวกับเมนบอร์ดของคุณ

การเปลี่ยนแปลงความถี่สัญญาณนาฬิกาหรือแรงดันไฟฟ้าอาจทำให้การรับประกันผลิตภัณฑ์ใดๆ เป็นโมฆะ และลดความมั่นคง ความปลอดภัย ประสิทธิภาพและอายุการใช้งานของโปรเซสเซอร์และส่วนประกอบอื่นๆ

การตั้งค่าที่ควรทราบเพื่อการทำโอเวอร์คล็อก

BIOS ให้คุณเข้าถึงฮาร์ดแวร์ของทั้งระบบ ดังนั้นจึงมีเมนูมากมายให้คุณเลือกใช้งาน นอกจากนี้ การออกแบบ BIOS ยังแตกต่างกันไปโดยขึ้นอยู่กับผู้ผลิตเมนบอร์ด ซึ่งอาจทำให้ชื่อเรียกหรือเค้าโครงเมนูอาจแตกต่างกันด้วย ตรวจสอบกับแหล่งข้อมูลออนไลน์เพื่อค้นหาตำแหน่งของคุณสมบัติที่คุณต้องการปรับค่า หรือสำรวจตัวเลือกต่างๆ ใน BIOS ของคุณจนกว่าคุณจะพบสิ่งที่คุณกำลังค้นหา

รายการการตั้งค่าต่อไปนี้เป็นประโยชน์อย่างมากในการทำโอเวอร์คล็อก:

  • CPU Core Ratio หรือตัวคูณจะเป็นค่าที่กำหนดความเร็วของ CPU ของคุณ ความเร็วโดยรวมของโปรเซสเซอร์ของคุณจะได้รับการคำนวณโดยการใช้อัตราส่วนนี้คูณกับความเร็วสัญญาณนาฬิกาพื้นฐาน (BCLK) เช่น BCLK ที่ 100MHz คูณด้วย CPU Core Ratio ที่ 45 ทำให้ความเร็ว CPU มีค่าเท่ากับ 4,500MHz หรือ 4.5GHz โดยทั่วไปแล้ว คุณสามารถเปลี่ยนการตั้งค่าในแต่ละคอร์ หรือในทุกคอร์ได้
  • แรงดันไฟฟ้า CPU Core คือค่ากำลังไฟที่จ่ายไปยัง CPU การเพิ่มแรงดันไฟฟ้า CPU Core เป็นการเพิ่มแรงดันไฟอินพุตเข้าไปใน CPU ของคุณเพื่อให้ CPU มีศักยภาพในการทำงานที่ความเร็วที่สูงขึ้นได้
  • CPU Cache/Ring Ratio จะปรับความถี่ของชิ้นส่วนบางชิ้นของ CPU เช่น แคชและตัวควบคุมหน่วยความจำ
  • แรงดันไฟฟ้า CPU Cache/Ring ได้รับการออกแบบมาเพื่อเพิ่มแรงดันไฟเข้าแคช CPU ของคุณ ซึ่งจะช่วยให้การทำโอเวอร์คล็อกของโปรเซสเซอร์ของคุณมีความเสถียรยิ่งขึ้น บนบางแพลตฟอร์ม แรงดันไฟฟ้านี้จะเชื่อมโยงกับแรงดันไฟฟ้า CPU Core และไม่สามารถปรับค่าแยกกันได้

ความสำคัญในการตรวจสอบระบบ

คุณจำเป็นต้องตรวจสอบระบบของคุณอย่างรอบคอบในขณะที่ทำการโอเวอร์คล็อก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงกำลังไฟที่จ่ายไปยังฮาร์ดแวร์ของคุณอาจส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิการทำงานของอุปกรณ์

BIOS มีตัวเลือกการตรวจสอบระบบที่จำกัด ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงขอแนะนำให้ใช้ซอฟต์แวร์ที่ทำงานจาก Windows ซึ่งจะให้ผลดีกว่า Intel® XTU มีชุดเครื่องมือตรวจสอบระบบที่ครบครัน และมีตัวเลือกอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น CPU-Z, CoreTemp, HWiNFO32 และอื่น ๆ อีกมากมาย

ขณะนี้คุณเข้าใจได้เกี่ยวกับการตั้งค่าที่คุณจะทำการปรับแล้ว เรามาเริ่มที่การเปรียบเทียบประสิทธิภาพระบบของคุณกัน

ขั้นที่ 1: กำหนดประสิทธิภาพเบสไลน์

ขั้นตอนแรกของกระบวนการทำโอเวอร์คล็อก คือ การวัดค่าประสิทธิภาพเบสไลน์ของระบบของคุณด้วยยูทิลิตี้การเปรียบเทียบประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้ให้สามารถเปรียบเทียบกับเมตริกประสิทธิภาพหลังจากทำโอเวอร์คล็อกได้ง่ายขึ้น และบ่งชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการใด ๆ ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากคุณไม่สามารถรันยูทิลิตี้การเปรียบเทียบประสิทธิภาพได้จาก BIOS คุณจึงจำเป็นต้องใช้ยูทิลิตี้การเปรียบเทียบประสิทธิภาพที่เปิดจาก Windows

มีหลายวิธีในการเปรียบเทียบฮาร์ดแวร์ของคุณ รวมถึงซอฟต์แวร์ Intel® Extreme Tuning Utility เราได้รวบรวมรายการด้านล่างนี้ให้คุณเป็นแนวทางกว้างๆ ในการทำโอเวอร์คล็อก

เมื่อคุณได้คะแนนการเปรียบเทียบประสิทธิภาพแล้ว ตรวจสอบว่าคุณได้บันทึกค่าดังกล่าวไว้เพื่อใช้เปรียบเทียบกับคะแนนที่ได้ในภายหลัง และดูผลลัพธ์จากการทำโอเวอร์คล็อกของคุณ

ขั้นที่ 2: ปรับการตั้งค่าประสิทธิภาพ

ตัวอย่างเช่น คอร์ CPU ทั้งหมดได้รับตั้งค่าไว้ที่ตัวคูณ 50x

ตามที่กล่าวข้างต้น การกำหนดค่า BIOS และฮาร์ดแวร์ทั้งหมดจะมีความแตกต่างกัน ดังนั้นตำแหน่งการตั้งค่าของคุณก็อาจแตกต่างกันด้วย อย่างไรก็ดี หลักพื้นฐานของการทำโอเวอร์คล็อกก็มีความเหมือนกันในทุกระบบ

การตั้งค่าแรกที่คุณต้องปรับคือ CPU Core Ratio ซึ่งเป็นหนึ่งในค่าที่กำหนดความเร็วสุดท้ายของ CPU ค้นหาส่วนที่อยู่ใน BIOS ของคุณที่ให้คุณปรับการตั้งค่านี้ได้

ข้อควรระวัง: วิธีที่ดีที่สุดในขณะที่เปลี่ยนแปลงการตั้งค่าการทำงานของ CPU ก็คือการเปลี่ยนแปลงทีละค่า และตรวจสอบว่าสำเร็จหรือไม่ก่อนเปลี่ยนแปลงค่าถัดไป ด้วยวิธีนี้ หากที่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น คุณก็จะสามารถระบุค่าที่เป็นปัญหาได้ง่ายและเปลี่ยนกลับไปยังค่าการทำงานล่าสุดได้

เมื่อคุณพบแล้ว ให้เริ่มด้วยการปรับ CPU Core Ratio เพิ่มขึ้นหนึ่งค่า (เช่น จาก 42 ถึง 43) จากนั้นให้ปรับใช้ค่าที่เปลี่ยนแปลง บันทึก และออกจาก BIOS ของคุณ และรีสตาร์ทระบบของคุณ

ขอแนะนำให้ปรับค่าให้น้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ เมื่อทำการปรับการตั้งค่าใดๆ ใน BIOS ของคุณ จากนั้นใช้ค่าที่เปลี่ยนแปลง รีสตาร์ทระบบของคุณ และรันการเปรียบเทียบประสิทธิภาพของคุณ วิธีนี้ไม่เพียงบอกคุณได้ว่า คุณกำลังปรับการตั้งค่าที่เป็นประโยชน์ต่อการโอเวอร์คล็อกของคุณหรือไม่ แต่ยังช่วยให้คุณแก้ไขการตั้งค่าใดๆ ที่ส่งผลให้ระบบไม่เสถียรอีกด้วย BIOS ส่วนใหญ่มีตัวเลือกให้คุณบันทึกการตั้งค่าของคุณเป็นโปรไฟล์ได้ ทุกครั้งที่คุณประสบความสำเร็จในการปรับชุดการตั้งค่าที่ส่งผลให้การโอเวอร์คล็อกมีความเสถียร ให้บันทึกชุดค่าเป็นโปรไฟล์เพื่อใช้ทำซ้ำได้ง่ายขึ้น

หากระบบบูตได้สำเร็จ รันการเปรียบเทียบประสิทธิภาพเดียวกันกับก่อนหน้านี้ และตรวจสอบว่าคะแนนดีขึ้นกว่าครั้งแรกหรือไม่ หากคอมพิวเตอร์ไม่รีสตาร์ทหรือปิดตัวลงหลังจากใช้การตั้งค่า CPU Core Ratio ใหม่ ให้กลับไปที่ BIOS เพื่อเปลี่ยนการตั้งค่ากลับไปเป็นค่าล่าสุด

นอกจากการปรับเพิ่ม Core Ratio แล้ว คุณอาจจำเป็นต้องปรับแรงดันไฟฟ้าที่จ่ายไปยัง CPU หากคุณพบว่าระบบไม่เสถียรหลังการรีสตาร์ท การตั้งค่านี้ควรมีค่าใกล้เคียงกับการตั้งค่า CPU Core Ratio ใน BIOS ของคุณ และมักจะเรียกโดยทั่วไปว่า แรงดันไฟฟ้า CPU หรือ CPU Vcore การปรับแรงดันไฟฟ้าอาจช่วยให้มั่นใจว่า CPU มีกำลังไฟที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานที่ความเร็ว Core Ratio ที่สูงขึ้น ความถี่ที่สูงขึ้นต้องใช้กำลังไฟมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้จำเป็นต้องใช้แรงดันไฟฟ้าเพิ่มขึ้นด้วย

ในขณะที่เพิ่มแรงดันไฟฟ้า CPU Core โปรดทราบว่ากำลังไฟที่เพิ่มขึ้นผ่าน CPU จะส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์อุณหภูมิการทำงานของของเครื่องด้วย คุณจำเป็นต้องหาแรงดันไฟฟ้าที่ต่ำสุดที่มีความเสถียรในทุกสถานการณ์ ดังนั้นเราจึงขอแนะนำให้เพิ่มแรงดันไฟฟ้าทีละ +0.05 V เท่านั้น จากนั้นให้ปรับใช้ค่า และทดสอบจนกว่าคุณพบชุดค่าที่ประสบความสำเร็จ

คุณยังสามารถปรับโปรแกรมรักษาความปลอดภัยที่ให้มาในตัวจาก BIOS ได้ด้วย แม้ว่าการปรับการตั้งค่านี้อาจเป็นประโยชน์ในขณะที่พยายามทำการโอเวอร์คล็อก แต่เราขอแนะนำให้คุณเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าเมื่อคุณมั่นใจในสิ่งที่คุณกำลังทำเท่านั้น โปรแกรมรักษาความปลอดภัยมีไว้เพื่อเหตุผลบางประการ การเปลี่ยนแปลงโปรแกรมรักษาความปลอดภัยอย่างไม่ถูกวิธีอาจส่งผลให้ฮาร์ดแวร์ของคุณได้รับความเสียหายได้

หากคุณพบว่าระบบของคุณไม่เสถียร ซึ่งหมายความว่าระบบไม่สามารถกลับมาทำงานได้หรือค้าง ให้คุณอ่านข้อมูลในส่วนนี้เกี่ยวกับการรักษาความเสถียรของระบบเป็นขั้นตอนถัดไป

ภายหลังการทดสอบ เมื่อคุณได้ผลลัพธ์ที่ต้องการจากการเปรียบเทียบประสิทธิภาพแล้ว และคุณพบว่าระบบของคุณรีสตาร์ทได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ คุณก็จะสามารถดำเนินการขั้นตอนถัดไปได้

ขั้นที่ 3: วัดค่าประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น

รันการเปรียบเทียบประสิทธิภาพเดียวกันกับก่อนหน้านี้เพื่อวัดผลคะแนนเบสไลน์ของระบบของคุณเพื่อยืนยันประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นจากการทำโอเวอร์คล็อก จากนั้นจึงทำการเปรียบเทียบผลลัพธ์ หากค่าที่ได้เพิ่มขึ้น แสดงว่าคุณประสบความสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพของ CPU ของคุณ ณ จุดนี้ คุณมีสองทางเลือก

  • หากคุณพึงพอใจกับประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นแล้ว คุณก็สามารถดำเนินการต่อเพื่อให้มั่นใจในความเสถียรของระบบ
  • หากการเปลี่ยนแปลงของคุณไม่ส่งผลให้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ให้ย้อนกลับไปที่ BIOS และทำการปรับการตั้งค่าของคุณจนกว่าคุณจะได้รับผลลัพธ์ที่ต้องการ

ขั้นที่ 4: การทดสอบภาวะวิกฤต

คะแนนการเปรียบเทียบประสิทธิภาพแสดงถึงประสิทธิภาพที่วัดได้ของระบบในระยะเวลาอันสั้น คุณจำเป็นต้องทำการทดสอบภาวะวิกฤตของความถี่ที่เพิ่มขึ้นของ CPU ของคุณ เพื่อให้มั่นใจในความเสถียรของระบบในระยะยาว หรือความสามารถในการรองรับภาระงานที่เพิ่มขึ้น

มีตัวเลือกซอฟต์แวร์การทดสอบประสิทธิภาพของระบบให้เลือกมากมาย คุณต้องการเลือกซอฟต์แวร์ที่สะท้อนวิธีการที่คุณต้องการใช้งานระบบของคุณได้อย่างใกล้เคียงมากที่สุด

หลังการทำโอเวอร์คล็อก

หากคุณทำตามคำแนะนำข้างต้นในการทำโอเวอร์คล็อก BIOS ผลลัพธ์ที่ได้ควรเป็นระบบที่เสถียรที่มาพร้อมกับ CPU ที่ทำงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม หากคุณทำการทดสอบประสิทธิภาพระบบและพบว่าระบบของคุณเสถียร นี่ก็ถือเป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอน ขอแสดงความยินดีด้วย!

อย่างไรก็ดี ขอแนะนำให้ติดตามตรวจสอบการตั้งค่าของคุณเป็นครั้งคราวเพื่อให้มั่นใจว่า CPU ของคุณทำงานที่อุณหภูมิที่เหมาะสม โดยเฉพาะหากคุณปรับแต่งหรือเปลี่ยนฮาร์ดแวร์อื่นๆ ของคุณ แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การใช้เวลาเพลิดเพลินไปกับการโอเวอร์คล็อกใหม่ของคุณ และประโยชน์ทั้งหมดที่ได้จาก CPU ที่รวดเร็วขึ้น

หากคุณพร้อมที่จะใช้ประโยชน์สูงสุดจากส่วนประกอบอื่นๆ โปรดเข้าไปดูที่คู่มือการโอเวอร์คล็อก RAM ของเรา